ทุกวันนี้เรารู้จักคาราโอเกะกันดี แต่แท้จริงแล้ว มีมันที่มาอย่างไร แล้วมันเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง
ก่อนอื่น ความหมายแท้จริงของคำว่า “คาราโอเกะ” (Karaoke) (カラオケ) แยกมาจากคำว่า “คาระ” ( カラ) ความหมายคือ ว่างเปล่า และ “โอเกะ” (オーケ) ย่อมาจากคำว่า “โอเกะซุโตะระ” (オーケストラ) มีความหมายสื่อถึง วงออร์เคสตร้า แล้วคำนี้ก็โดนใช้เป็นศัพท์แสลงไป “คาราโอเกะ” ยังสามารถตีความได้ว่า “วงออร์เคสตร้าที่เสมือนจริง” เพราะเพียงแค่มีคนคุมเครื่องคนเดียวเท่านั้น ก็สามารถจัดการควบคุมดนตรีและเพลงให้เริ่มต้นไปได้โดยไม่ต้องมีวงดนตรีจริงๆก็ยังได้
ในช่วงทศวรรษ 1970 อุตสาหกรรมคาราโอเกะเริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งชื่อว่าเป็นผลพวงมาจากกิจกรรมและลักษณะการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นในยุค 60-70 โดยเฉพาะพวกมนุษย์เงินเดือน Salaryman ที่ต้องทำงานตั้งแต่เช้าจรดเย็น บ้างก็ทำต่อจนถึงค่ำ กว่าจะออกจากที่ทำงานก็เป็นเวลาค่ำมืด แล้วความที่การทำงานส่วนใหญ่ของพนักงานเหล่านี้ต้องสะสมความเครียดสูง คนญี่ปุ่นเองก็เป็นพวกที่มีลักษณะเก็บกดอารมณ์ ไม่ค่อยแสดงออกมากนัก เมื่อพ้นเวลางาน จึงนิยมจับกลุ่มออกไปหาโอกาสปลดปล่อยในร้านอาหาร ผับบาร์ ส่วนมากร้านพวกนี้ก็จะจ้างนักร้องผู้หญิงหน้าตาดี มาช่วยกล่อมเกลาให้ แต่บางร้านก็มีนักร้องผู้ชายด้วย
จากจุดนั้น มีนักร้องคนหนึ่งคือ อินุอะเอะ ไดสุเกะ เขามีแฟนคลับติดตามฟังเพลงที่ร้านอุตะโกะเอะ คิซซา ที่เขาไปเล่นดนตรีอยู่บ่อยๆ แล้วพวกนี้ก็ขอร้องให้ช่วยบันทึกการแสดงด้วย เมื่อมากเข้า ไดสุเกะ จึงเกิดไอเดีย ทำเครื่องบันทึกเทปราคาถูกที่ให้ลูกค้าหยอดเหรียญ 100 ลงไป แล้วก็จะได้ฟังเพลงจากที่เขาบันทึกไว้ ต่อมาก็ให้ร้านอื่นๆเช่าเครื่องของเขาไปใช้งาน นี่จึงเป็นเครื่องเล่นคาราโอเกะเครื่องแรกของโลก ข้อดีคือ ทำให้ตัวไดสุเกะไม่ต้องแสดงสดซ้ำๆ ขณะเดียวกันร้านอื่นๆที่อยากได้เพลงของเขา ก็ไม่ต้องไปซื้อหาเพลงใหม่ๆมาเล่น จากนั้นรูปแบบนี้จึงค่อยพัฒนาเรื่อยมา ย่านที่นิยมใช้คาราโอเกะมากในช่วงแรกคือ ชินจูกุ ซึ่งเป็นแหล่งรวมสถานเริงรมย์ของญี่ปุ่นมายาวนาน
สำหรับการเข้ามาของคาราโอเกะในประเทศไทยนั้น เริ่มเมื่อช่วงปีพ.ศ.2520 ถนนธนิยะ ย่านสีลม ซึ่งเป็นแหล่งธุรกิจและพาณิชย์ของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น และเป็นย่านสถานเริงรมย์ที่ขึ้นชื่อมาก คาราโอเกะเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในความบันเทิงของคนกลางคืนที่มีภาพลักษณ์ไม่ดีนัก เพราะในยุคนั้น เมื่อพูดว่าไปร้านคาราโอเกะ ก็จะนึกถึงร้านเหล้าที่มีผู้หญิงมาชงและคอยบริการอย่างใกล้ชิด ยุคนั้นจะเรียกคาราโอเกะว่า “ดนตรี 8 แทร็ค” เพราะเครื่องเล่นและม้วนเทปคล้ายกับเทปเพลงทั่วไป แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่า ข้อแตกต่างคือ เมื่อเปิดแล้วจะมีแต่เสียงดนตรีอย่างเดียว ไม่มีเสียงร้องอยู่ด้วย เพื่อให้ลูกค้าได้ร้องตามใจชอบ ส่วนยุคแรกนั้นยังไม่มีการทำ MV ประกอบเพลงและเนื้อร้องประกอบ วิธีการจึงเป็นแบบการเปิดเสียงดนตรีแล้วคนร้องก็ร้องเอาเอง ต่อมาคาราโอเกะก็เริ่มขยายความนิยมไปทั่ว ตามร้านอาหารชั้นสูง และตามร้านคาเฟ่ จากนั้นจึงเริ่มมาเป็นลักษณะตู้เพลงหยอดเหรียญ ซึ่งร้านอาหารแบบคาเฟ่ที่จับลูกค้าท้องถิ่นนิยมนำมาใช้ ทำให้ตู้คาราโอเกะกระจายตัวไปตามคาเฟ่หลายแห่งในต่างจังหวัด
ก่อนหน้าปีพ.ศ.2540 ธุรกิจร้านคาราโอเกะได้เปลี่ยนโฉมไปพอสมควร คนทั่วไปเริ่มอยากหาสถานที่สำหรับร้องคาราโอเกะโดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับเหล้า ผู้หญิง หรือสถานเริงรมย์ แต่เป็นการร้องเพลงเพื่อปลดปล่อยความเครียด และพบปะสังสรรค์เพื่อนฝูง รวมถึงเป็นกิจกรรมบันเทิงในวันหยุดของครอบครัวด้วย
บริษัท Major Ciniplex เป็นรายแรกที่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ เนื่องจากเวลานั้นถ้ามีครอบครัวหรือวัยรุ่นอยากไปร้องคาราโอเกะที่ปลอดจากอบายมุข ร้านที่ทำแบบนั้นได้ยังมีไม่มาก และชุดเครื่องคาราโอเกะสำหรับใช้ตามบ้านก็ยังมีราคาแพงมาก เป็นเครื่องเล่นสำหรับครอบครัวที่มีฐานะเท่านั้น ทาง Major จึงเริ่มธุรกิจคาราโอเกะที่มุ่งจับกลุ่มวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา และครอบครัว สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้เป็นธุรกิจกลางวันแทนที่ รวมถึงการสนับสนุนจากค่ายเพลงหลายแห่งที่เริ่มผลิตแผ่นคาราโอเกะออกมามากขึ้นและเทคโนโลยีเครื่องคาราโอเกะที่เริ่มมีความทันสมัยมากขึ้นด้วย ทำให้ธุรกิจของเครือ Major ที่ทำให้คาราโอเกะปลอดจากอบายมุขเริ่มได้รับความนิยม และมีสาขาแรกที่รัชโยธิน จากนั้นจึงขยายเข้าสู่โรงหนังในเครือของตนเอง การร้องเพลงคาราโอเกะจึงกลายเป็นหนึ่งในความบันเทิงที่มาพร้อมกับการชมภาพยนตร์และการเล่นโบว์ลิ่ง ที่ทำให้ธุรกิจนี้มีความสว่างมากขึ้น
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญมาถึงในปีพ.ศ. 2545 ประเทศไทยเริ่มให้จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ดนตรี ในการเผยแพร่และทำซ้ำต่อสาธารณชน ซึ่งนี่เป็นเงื่อนไขของ WTO ที่ต้องการจัดการระบบดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในหลายประเทศอย่างจริงจัง ป้องกันปัญหานายทุนหาผลประโยชน์จากผู้สร้างสรรค์ผลงาน สำหรับในประเทศไทย บริษัทแรกที่เริ่มจัดการค่าลิขสิทธิ์ในธุรกิจคาราโอเกะเป็นค่ายแรกก็คือ แกรมมี่ (GMM) ค่ายยักษ์ใหญ่ของประเทศ ตามด้วย RS และอื่นๆ เมื่อค่ายยักษ์ใหญ่เข้ามาดูแลเรื่องนี้ ทำให้ร้านคาราโอเกะหลายแห่งต้องเพิ่มทุนมากขึ้น สำหรับร้านเล็กๆที่สู้ไม่ได้ก็ปิดตัวลงไปมาก เหลือเพียงร้านระดับกลางและบนที่สามารถปรับตัวได้เท่านั้น
ในช่วง 10 ปีหลังนี้ เราอาจพบว่าธุรกิจคาราโอเกะได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปอีกครั้ง คราวนี้มาในลักษณะของห้องร้องเพลงขนาดย่อมๆที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าอยู่ใกล้กับโรงภาพยนตร์ แนวคิดง่ายๆคือ บริการราคาถูก ที่ให้วัยรุ่นฆ่าเวลาในห้าง เป็นการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดในอีกรูปแบบหนึ่ง